หน้าหลัก > เกี่ยวกับเรา > หลักการและเหตุผล
หลักการและเหตุผล
ในปัจจุบันประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านนวัตกรรมการขนส่งอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับการการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาคอาเซี่ยน (ASEAN) รวมไปถึงการเข้าสู่การเป็น AEC ในปี 2515 โดยรัฐบาลของประเทศไทยมีแนวนโยบายที่ชัดเจนในการปรับระบบการขนส่งหลักจากถนนให้เป็นระบบราง ซึ่งจะพิจารณาได้จากการออก พ.ร.บ เงินกู้เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ 2.2 ล้านล้านบาท ส่วนหนึ่งเพื่อนำมาก่อสร้างโครงข่ายการขนส่งระบบรางของประเทศซึ่งประกอบไปด้วยระบบรถไฟความเร็วสูง และระบบรถไฟรางคู่ครอบคลุมทั้งประเทศและการเชื่อมต่อกับภูมิภาค สำหรับถนนซึ่งเคยเป็นระบบการขนส่งและทางเดินหลักของประเทศไทยก็ยังคงมีความสำคัญในการเป็นเส้นทางสาขาเชื่อต่อของโครงข่ายการขนส่งระบบราง ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าในช่วงทศวรรษนี้ประเทศไทยจะมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดด้านนวัตกรรมก่อสร้างการขนส่งระบบรางและการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายถนนของประเทศ
อย่างไรก็ตามองค์ความรู้ทางด้านโครงข่ายขนส่งระบบรางรวมไปถึงนวัตกรรมใหม่ของการเพิ่มประสิทธิภาพถนนของประเทศไทยยังคงล้าหลังเมื่อเปรียบเทียบกับองค์ความรู้ดังกล่าวของนานาอารยประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงในระบบการขนส่งทั้งสองระบบของประเทศจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด การขาดองค์ความรู้เพื่อรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวถือเป็นประเด็นที่หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเริ่มมีความวิตกกังวลถึงปัญหาที่อาจเกิดตามมาในหลายมิติ สถาบันการศึกษาโดยเฉพาะมหาวิทยาลัย ควรเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมและรองรับการก่อสร้างและบำรุงโครงข่ายขนส่งระบบรางและการเพิ่มประสิทธิภาพถนนของประเทศ แต่ในขณะนี้ยังไม่มีสถาบันการศึกษาแห่งใดในประเทศไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมระบบราง (Railway Engineering) และทฤษฎีใหม่ของวิศวกรรมการทาง (Modern Pavement Engineering) ซึ่งการขากองค์ความรู้ใหม่ๆนี้ยังรวมไปถึงหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบระบบขนส่งดังกล่าว โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท
จากเหตุผลดังกล่าวในข้างต้น การพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมระบบรางและทฤษฎีใหม่ของวิศวกรรมการทางของประเทศไทยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งและต้องเริ่มดำเนินการอย่างเร่งด่วน แต่ด้วยข้อจำกัดของหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบ การพัฒนาองค์ความรู้ดังกล่าวในปัจจุบันจึงยังไม่ตอบสนองต่อความต้องการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ดังนั้นสถาบันการศึกษานำโดยมหาวิทยาลัยจึงน่าจะเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาองค์ความรู้ดังกล่าวให้กับประเทศไทยในช่วงต้น ร่วมกับการสนับสนุนจากทางภาครัฐในการให้ข้อมูลและทิศทางในการศึกษาเพื่อตอบสนองกับการพัฒนาของระบบรางและถนนของประเทศไทยดังกล่าว
มหาวิทยาลัยนเรศวร นำโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์จึงได้เล็งเห็นความสำคัญที่จะพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมระบบรางและวิศวกรรมการทางในประเทศไทย โดยความร่วมมือกับกลุ่มนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านดังกล่าวจากมหาวิทยาลัยในประเทศ ประกอบด้วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสุรนารี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ รวมไปถึงการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว) และกระทรวงการต่างประเทศนำโดยกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ ในการนำ Curtin University และ Wollongong University ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมการทางและวิศวกรรมระบบรางในระดับโลก มาสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ผ่านผู้เชี่ยวชาญจากสองมหาวิทยาลัยของประเทศออสเตรเลีย
การจัดตั้ง Centre of Excellence for Pavement Technology and Rail Innovation ของมหาวิทยาลัยนเรศวรโดยการสนับสนุนของนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะกลายเป็นหน่วยแรกของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ในโครงข่ายขนส่งระบบรางและถนนของประเทศเป็นหลัก ซึ่งองค์ความรู้ดังกล่าวจะมีความสำคัญเป็นอย่างสูงต่อประเทศไทยในทศวรรษหน้าและต่อๆไป