ชื่อโครงการ
สถานวิจัยความเป็นเลิศทางวิชาการด้านเทคโนโลยีพลังงานและสิ่งแวดล้อม
Center of Excellence for Energy Technology and Environment
 
 คณะผู้วิจัย

สถานวิจัยความเป็นเลิศทางวิชาการด้านเทคโนโลยีพลังงานและสิ่งแวดล้อม จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ ที่มาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จำนวน 18 คน วิทยาลัยพลังงานทดแทน จำนวน 10 คน คณะวิทยาศาสตร์ จำนวน 5 คน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จำนวน 4 คน และ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม จำนวน 4 คน รวมผู้เชี่ยวชาญทั้งสิ้น 41 คน โดยมีคณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นผู้ประสานในการดำเนินการ

 หน่วยงานต้นสังกัด

สถานวิจัยความเป็นเลิศทางวิชาการด้านเทคโนโลยีพลังงานและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานเทียบเท่าภาควิชาในสังกัดของคณะวิศวกรรมศาสตร์

 เหตุผลความจำเป็น

          การเปลี่ยนแปลงสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมจากสังคมเกษตรกรรมสู่ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร การบริโภคทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่คำนึงถึงผลกระทบ ส่งผลทำให้ทั่วโลกประสบปัญหาทางด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขาดแคลนพลังงานอันเนื่องมาจากแหล่งพลังงานธรรมชาติที่มีอยู่เริ่มไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งานซึ่งมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกปี ปัญหาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและมลพิษ และปัญหาภัยธรรมชาติอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เริ่มทวีความรุนแรงและปรากฏให้เห็นบ่อยขึ้นในแต่ละปี ในส่วนของประเทศไทย ภาครัฐได้นำมาตรการหลายอย่างมาใช้เพื่อแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาดังกล่าว อันได้แก่ มาตรการการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ มาตรการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก และ มาตรการในการบรรเทาปัญหาจากการเกิดภัยพิบัติ แต่อย่างไรก็ตาม การออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นก็ยังไม่เพียงพอสำหรับการลดหรือแก้ไขปัญหาดังกล่าวลงได้ ดังนั้น การศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงเป็นประเด็นที่สำคัญอย่างมากสำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตภาคเหนือตอนล่างอันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยนเรศวรซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญต่อการพัฒนาของประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางด้านการเกษตร เป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญสำหรับการผลิตพลังงานชีวภาพซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกสำหรับใช้ในการทดแทนพลังงานที่ได้จากแหล่งธรรมชาติซึ่งร่อยหรอลงทุกขณะ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่เสียงในการเกิดภัยพิบัติ ดังนั้น มหาวิทยาลัยนเรศวรซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาของรัฐที่ในพื้นที่จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเข้ามามีบทบาทในการแก้ไข หรือจัดการกับปัญหาดังกล่าว

          ปัจจุบัน นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัยจำนวนมากมีความสนใจในการศึกษาค้นคว้าเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ สำหรับใช้ในการจัดการปัญหาทางด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และผลกระทบที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนักวิจัยเหล่านี้ได้ผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพออกมาอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ แต่ยังเป็นไปในรูปแบบกระจายอย่ในหลายหน่วยงาน และขาดการประสานงานร่วมกัน เพื่อกำหนดทิศทางการวิจัยที่เหมาะสม ทั้งที่ การศึกษาค้นคว้าเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ สำหรับใช้ในการจัดการปัญหาทางด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และผลกระทบที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน จำเป็นต้องผสมผสานองค์ความรู้จากศาสตร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น การจัดตั้งหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการรวบรวม ประสานความร่วมมือระหว่างนักวิจัยที่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องนี้จากหน่วยงานต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย รวมถึงการบูรณาการเทคโนโลยีต่าง ๆ ในสาขาที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนางานวิจัยสำหรับการจัดการปัญหาทางด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อก่อให้เกิดผลงานวิจัย และ เทคโนโลยีที่มีความเป็นเลิศ ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และผลกระทบที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนต่อไป

 พันธกิจ

2.1 ผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ สร้างนวัตกรรม และองค์ความรู้ใหม่ ๆ จากงานวิจัยที่สามารถแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน
2.2 พัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีพลังงาน สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการผลิตนักวิจัยที่มีขีดความสามารถสูง
2.3 สร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านงานวิจัยกับหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ
2.4 ให้บริการทางวิชาการในด้านต่าง ๆ แก่ภาครัฐและเอกชน
2.5 รวบรวมองค์ความรู้ เทคโนโลยี หรือข้อมูลต่าง ๆ ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 วัตถุประสงค์

3.1 พัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ ๆ ทางด้านเทคโนโลยีพลังงาน สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเป็นการตอบสนองต่อปัญหาหรือความต้องการของพื้นที่ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ
3.2 เพื่อสร้างความเป็นเลิศในการวิจัยอันจะนำไปสู่ความเข้มแข็งในการผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพได้รับการยอมรับในระดับสากล
3.3 เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีพลังงาน สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นศูนย์รวมของนักวิจัยที่มีศักยภาพสูง
3.4 เพื่อเป็นหน่วยงานที่ให้บริการวิชาการ ให้คำปรึกษาชี้แนะ ฝึกอบรม รวมถึงการให้บริการในด้านต่าง ๆ แก่สาธารณะชน
3.5 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาบัณฑิตศึกษาโดยเป็นศูนย์วิจัยที่สร้างนักวิจัยที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญสูงทางด้านเทคโนโลยีพลังงาน

 การจัดการองค์กร

ลักษณะของสถานวิจัย มีลักษณะขององค์กรดังนี้
• เป็นองค์กรที่ประกอบด้วยอาจารย์ และนักวิจัยจากสาขาต่างๆ ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านทางด้านเทคโนโลยีพลังงาน สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
• เป็นองค์กรที่มีทรัพยากรวิจัยซึ่งได้แก่ บุคลากร สถานที่ครุภัณฑ์ และงบประมาณที่เอื้อต่อการดำเนินการวิจัยและสร้างนวัตกรรมในระดับสากล
• เป็นองค์กรที่เป็นศูนย์กลางด้านการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีพลังงานสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
• เป็นองค์กรที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับประชาชน

สถานวิจัยความเป็นเลิศทางวิชาการด้านเทคโนโลยีพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จะเป็นหน่วยงานเทียบเท่าภาควิชาและอยู่ภายใต้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มีลักษณะที่เป็นเครือข่ายทางวิชาการที่มีสถานฯ ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานการดำเนินการด้านการวิจัยทั้งในแง่ของการประสานความร่วมมือระหว่างนักวิจัย/หน่วยงาน/องค์กร เป็นศูนย์กลางในการสนับสนุนระบบการใช้ทรัพยากรในการทดลองวิจัยร่วมกัน ส่งเสริมในการจัดหาครุภัณฑ์การวิจัยที่จำเป็นโดยอาศัยระบบเครือข่าย และทำหน้าที่ในการประสานแหล่งทุนต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนเงินงบประมาณสำหรับการดำเนินโครงการวิจัยหรือส่งเสริมการเรียนการสอนทางด้านบัณฑิตศึกษา

 ระบบการบริหารงานบุคคล

โครงสร้างการบริหารงานของสถานวิจัยฯ ที่มีฐานะเทียบเท่าภาควิชา แสดงไว้ในรูปที่ 1

รูปที่ 1  แผนผังแสดงโครงสร้างการบริหารงานของสถานความเป็นเลิศทางวิชาการด้านเทคโนโลยีพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร


โครงสร้างการบริหารงานของสถานความเป็นเลิศฯ (รูปที่ 1) ประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
          ผู้บริหารสถานฯ – คณะผู้บริหารสถานความเป็นเลิศฯ ประกอบด้วยผู้อำนวยการสถานฯ และรองผู้อำนวยการสถานฯ มีบทบาทและหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารงานของศูนย์ฯ ตามแผนงานที่ได้วางไว้
          คณะกรรมการบริหารสถานฯ – มีหน้าที่ในการกำหนดทิศทางเพื่อขับเคลื่อนองค์กรหรือสถานความเป็นเลิศฯเพื่อให้การดำเนินสามารถบรรลุวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ หรือเป้าหมายที่วางไว้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ก่อให้เกิดผลลัพธ์ตามที่ต้องการ
          หน่วยประสานงาน – มีหน้าที่ในการควบคุมกลไกการทำงานของสถานความเป็นเลิศฯ ทั้งหมดเพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีหน้าที่ในการติดต่อประสานงานระหว่างนักวิจัย หน่วยงานทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย สนับสนุนการดำเนินการด้านการวิจัยให้กับนักวิจัยหรือกลุ่มวิจัยภายในสถานฯ ทุกด้าน มีหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูล ข่าวสาร องค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ได้จากงานวิจัย อันจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งนักวิจัย และบุคคลโดยทั่วไป นอกจากนี้

          หน่วยวิจัย – ประกอบด้วย 4 กลุ่มวิจัย (รูปที่ 2) โดยแบ่งตามความเชี่ยวชาญของนักวิจัยที่สังกัดสถานฯ มีกรอบงานวิจัยครอบคลุมในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญของเทคโนโลยีพลังงาน สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีพลังงาน กลุ่มวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ กลุ่มวิจัยเครื่องมือวัดทางด้านพลังงาน และกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีพลังงานในอาคาร

รูปที่ 2 แสดงหน่วยวิจัยซึ่งอยู่ภายใต้สถานความเป็นเลิศทางวิชาการด้านเทคโนโลยีพลังงานและสิ่งแวดล้อม – มหาวิทยาลัยนเรศวร

 

 เป้าหมายผลผลิต

เป้าหมาย
เป็นสถานวิจัยที่จัดตั้งเพื่อการวิจัย สร้างและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีคุณค่าในระดับสากลเพื่อแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน


ผลผลิต
1. ผลงานเผยแพร่ในวารสารนานาชาติที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และการเผยแพร่ผลงานในการประชุมวิชาการต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ
2. นวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่สามารถใช้ในการแก้ปัญหาด้านด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
3. บัณฑิตศึกษาในระดับปริญญาโทและเอกจากสาขาต่างๆที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
4. นักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพในการดำเนินการวิจัยและสร้างนวัตกรรมด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ