1. ที่มาของหน่วยงาน
วิศวกรรมการแพทย์ (Medical engineering) เป็นสาขาวิชาที่เป็นสหวิทยาการ ที่ซึ่งผสมผสานความรู้ทางด้านวิศวกรรมแขนงต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมทางด้านการแพทย์ ที่จะเป็นประโยชน์และสามารถใช้ช่วยในการวินิจฉัยโรคและรักษาโรค รวมไปถึงการดูแลรักษาฟื้นฟูสุขภาพร่างกาย
ความรู้ทางด้านวิศวกรรมเครื่องกล และวิศวกรรมไฟฟ้า เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนางานวิจัยทางด้านวิศวกรรมการแพทย์ โดยเฉพาะการวิจัยทางด้านการจำลองระบบทางสรีรวิทยา (Physiological modeling) ที่ซึ่งต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของพลศาสตร์ของไหลเพื่อจำลองการทำงานระบบต่างๆในร่างกาย เช่น การจำลองระบบไหลเวียนโลหิต การจำลองระบบการไหลเวียนอากาศภายในหลอดลมปอด เป็นต้น การวิจัยทางด้านกลศาสตร์ชีวภาพ (Biomechanics) เป็นการศึกษาพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของร่างกายมนุษย์เพื่อนำไปสู่การออกแบบอวัยวะเทียมของส่วนต่างๆของร่างกายที่ต้องการความรู้ทางด้านกลศาสตร์วิศวกรรม รวมทั้งการตรวจวัดประมวลผลสัญญาณทางชีวการแพทย์ (Biomedical signal processing) อันได้แก่ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ คลื่นไฟฟ้าสมอง และคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ ที่ซึ่งจะนำไปเป็นข้อมูลในการศึกษาการทำงานของระบบสรีรวิทยา ทางด้านการวิจัยพัฒนาเครื่องมือและวัสดุทางการแพทย์ที่นำไปเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัย การรักษาโรค รวมทั้งครอบคลุมถึงวิศวกรรมการฟื้นฟู (Rehabilitation engineering) และการพัฒนาเทคโนโลยีอำนวยความสะดวก (Assistive technology) ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิต ของผู้สูงอายุรวมทั้งผู้บกพร่องทางร่างกายและการรับรู้
อย่างไรก็ตามในการพัฒนาและออกแบบเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อให้สามารถช่วยในการวินิจฉัยและการรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีอุปกรณ์ที่มีความแม่นยำและรวมถึงเครื่องมือที่มีความละเอียดสูง ดังนั้นจึงจำเป็นที่ต้องให้ความสำคัญกับความถูกต้องและความเที่ยงตรงของการวัด วิชาการด้านวิศวกรรมความเที่ยงตรง (Precision engineering) เป็นศาสตร์ซึ่งผสมผสานกันทางด้านวิศวกรรมหลายแขนงทั้งทางด้าน เครื่องกล ไฟฟ้า อีเลคโทรนิค ออปติก และคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการออกแบบ สร้าง ทดสอบเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีความถูกต้องเที่ยงตรงสูง (high precision) เช่นเครื่อง CNC, EDM และ Micro/Nano machining and fabrication อื่นๆ จึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้การออกแบบและสร้างนวัตกรรมทางวิศวกรรมการแพทย์ให้มีประสิทธิผล และได้มาซึ่งคุณสมบัติต่างๆที่ต้องการ
ดังนั้นทางคณะผู้วิจัยที่ซึ่งตระหนักถึงการพัฒนางานวิจัยทางด้านวิศวกรรมการแพทย์ และรวมถึงการเสริมสร้างคุณภาพของนวัตกรรมทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมความเที่ยงตรง จึงมีแนวคิดที่จัดตั้งหน่วยวิจัยเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมความเที่ยงตรงและการแพทย์ เพื่อวิจัยงานทางด้านวิศวกรรมการแพทย์ในสาขาต่างๆ และรวมถึงการออกแบบ และสร้างนวัตกรรมทั้งด้าน Hardware และ Software ในด้านเครื่องมือที่มีความเที่ยงตรงสูง โดยเน้นความถูกต้องและคุณภาพการวัดเป็นสำคัญ
2. วัตถุประสงค์ของหน่วยงาน
1. เพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนาทางด้านวิศวกรรมการแพทย์
2. เพื่อพัฒนาเครื่องมือที่มีความเที่ยงตรงสูง (High precision) ทั้งด้าน Hardware และ Software
3. เพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนา นวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและการฟื้นฟู
4. เพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนา นวัตกรรมเทคโนโลยีอำนวยความสะดวก
5. เพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนาด้านมาตรวิทยา (Metrology)
3. กรอบ แผนงานและทิศทางการดำเนินงานวิจัย
ระยะต้น (1-2 ปี)
1. จัดหาครุภัณฑ์พื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาด้านวิศวกรรมความเที่ยงตรงและการแพทย์
2. สำรวจความต้องการของประเทศด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์
3. ศึกษาเพิ่มเติมและจัดทำข้อเสนอโครงการกับแหล่งทุนต่างๆ
4. สร้างความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานต่างๆ ในประเทศ
ระยะกลาง (3-5 ปี)
1. พัฒนาเครื่องมือพื้นฐานทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ในด้านวิศวกรรมความเที่ยงตรงและการแพทย์
2. นำเสนอผลงานทางวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศ
3. สร้างความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ
4. ให้บริการทางวิชาการ
5. จัดหาแหล่งทุนทั้งภาครัฐบาลและเอกชน
6. ผลิตนักวิจัยด้านวิศวกรรมความเที่ยงตรงและการแพทย์รวมทั้งด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์
7. ยื่นจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรสำหรับเครื่องมือที่พัฒนาขึ้น
ระยะยาว (หลังจาก 5ปี)
1. พัฒนางานวิจัยแบบโครงการใหญ่บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆทั้งในและต่างประเทศ
2. จัดตั้งหน่วยผลิตและพัฒนาเครื่องมือทางด้านวิศวกรรมการแพทย์
3. จัดตั้งหน่วยผลิตและพัฒนาเครื่องมือทางด้านวิศวกรรมความเที่ยงตรงและมาตรวิทยา
4. จัดตั้งหน่วยบริหารข้อมูลและเผยแพร่เทคโนโลยีสู่การนำไปใช้อย่างยั่งยืน
4. ความร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยภายนอกและแนวทางการดำเนินการวิจัยและการสร้างเครือข่าย
ทางหน่วยวิจัยมีแนวทางการพัฒนางานวิจัยโดยมุ่งเน้นการวิจัยแบบบูรณาการ ซึ่งความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานจะทำให้เกิดผลงานวิจัยที่มีคุณภาพและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ในปัจจุบันทางหน่วยวิจัยมีการดำเนินงานวิจัยแบบบูรณาการร่วมกับนักวิจัยจากหน่วยงานต่างๆดังนี้
- สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ
- ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ
- คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ (ม.นเรศวร)
- คณะแพทยศาสตร์ (ม. นเรศวร)
5. สถานที่ตั้ง
IE 607,609 เพื่อใช้สำหรับงานสร้างและพัฒนาเครื่องมือด้านฮาร์ดแวร์
IE 611 เพื่อใช้สำหรับงานพัฒนาซอฟท์แวร์และการจำลองระบบ
IE 613 เพื่อใช้ทำการเก็บข้อมูลทดลองกับอาสาสมัคร
6. บุคลากรในหน่วยวิจัย
1. ดร. สุเมธ เหมะวัฒนะชัย ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล (ประธานกลุ่มวิจัย)
2. ผศ.ดร. ขวัญชัย ไกรทอง ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล (นักวิจัย)
3. ดร. พรพิศุทธิ์ วรจิรันตน์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ (นักวิจัย)
4. ดร. ศลิษา วีรพันธุ์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล (นักวิจัย)
5. ดร. ปัญญวัณ ลำเพาพงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล (นักวิจัย)
6. อาจารย์ชูพงศ์ ช่วยเพ็ญ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล (นักวิจัย)