วันที่ 5 ส.ค. 2559 อาจารย์รัฐภูมิ วรานุสาสน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) กล่าวว่า จำนวนผู้พิการทางสายตาในประเทศไทยมีจำนวนประมาณ 1.7 แสนคนและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปัญหาสำคัญของผู้พิการทางสายตาคือ “การเดินทาง” โดยทั่วไปผู้พิการทางสายตาในประเทศไทยจะใช้เครื่องมือมาช่วยในการเดินทางได้แก่ ไม้เท้านำทาง ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวมีข้อจำกัดในด้านระยะของการสำรวจสิ่งกีดขวางได้ประมาณ 1 เมตรเท่านั้น และไม่สามารถใช้สำรวจสิ่งกีดขวางที่อยู่สูง เช่น กิ่งไม้ ป้ายต่างๆ ได้ เพราะอาจเกิดอันตรายกับผู้อื่นหรือเกิดความเสียหายกับสิ่งของต่างๆ ได้
จากปัญหาทั้งหมดนี้จึงทำให้นิสิตและอาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรเกิดแนวคิดในการพัฒนาอุปกรณ์ nuVision (นิววิชั่น) และ nuVision Armband (นิววิชั่น อาร์มแบนด์) เพื่อลดข้อจำกัดของเครื่องมือที่ช่วยในการเดินทางแบบเดิมและช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถมีชีวิตที่พึ่งพาตนเองได้มากขึ้น
อุปกรณ์ nuVision และ nuVision Armband เป็นอุปกรณ์ช่วยนำทางผู้พิการทางสายตาทั้งสองเป็นผลงานของหน่วยวิจัยด้านเทคโนโลยีทัศนศาสตร์คอมพิวเตอร์และการโต้ตอบกับมนุษย์ ซึ่ง nuVision เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับสวมบนตัวผู้ใช้ ส่วน nuVision Armband เป็นอุปกรณ์ทำงานร่วมกับสมาร์ทโฟนสวมที่แขนของผู้ใช้ โดยอุปกรณ์ทั้งสองทำหน้าที่ช่วยระบุตำแหน่งและระยะห่างของสิ่งกีดขวาง ทำให้ผู้พิการสามารถเดินหลบหลีกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้ไม้เท้านำทางเพียงอย่างเดียว จะช่วยลดอุบัติเหตุและเพิ่มโอกาสให้กับผู้พิการทางสายตาให้ใช้ชีวิตทัดเทียมกับคนปกติมากขึ้น
อุปกรณ์ nuVision เครื่องต้นแบบนี้จะใช้ข้อมูลความลึกที่รับจากกล้อง Kinect โดยตัวเครื่องจะคำนวนระยะทางจากผู้ใช้งานถึงสิ่งกีดขวางนั้นๆ จากนั้นอุปกรณ์จะแจ้งเตือนที่บริเวณแผ่นหลังของผู้ใช้งาน ผู้ใช้งานจะสามารถรับรู้ตำแหน่งของสิ่งกีดขวางได้จากตำแหน่งที่สั่นและสามารถรับรู้ระยะของสิ่งกีดขวางได้จากความแรงของการสั่น
อาจารย์รัฐภูมิ วรานุสาสน์ กล่าวอีกว่า อุปกรณ์ทั้งสองนี้ได้รับการทดสอบโดยให้อาสาสมัครที่มีสายตาปกติปิดตาและใช้อุปกรณ์ดังกล่าวควบคู่กับไม้เท้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเดิน ซึ่งอาสาสมัครสามารถเดินและหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถึงที่หมายเร็วกว่า และชนสิ่งกีดขวางน้อยกว่าการใช้ไม้เท้าอย่างเดียว นอกจากนั้นยังพบว่าอาสาสมัครสามารถเรียนรู้การใช้งานอุปกรณ์ทั้งสองนี้ได้อย่างง่ายดาย โดยอุปกรณ์ทั้ง 2 ชนิดนี้ถือว่าเป็นเครื่องต้นแบบ อนาคต ก็จะพัฒนาให้เครื่องเล็กลง กะทัดรัด เพื่อให้เหมาะสมกับผู้พิการทางสายตาไปใช้งานได้เป็นอย่างดี และจะมีการจดสิทธิบัตรเนื่องจากเป็นเครื่องแรกของประเทศไทยอีกด้วยรวมลิ้งค์ข่าวเกี่ยวกับอุปกรณ์ช่วยนำทางผู้พิการทางสายตา ผลงานนิสิตวิชั่นแล็บ
Bangkok Post
http://www.bangkokpost.com/news/general/1053865
ช่อง 3
http://goo.gl/tEOv7h
มติชน
http://www.matichon.co.th/news/237392
พิษณุโลกฮอตนิวส์
http://www.phitsanulokhotnews.com/2016/08/05/89572
Copyright © Faculty of Engineering Naresuan University. All rights reserved.