โรคหัวใจ เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่เป็นปัญหาสำคัญทางด้านสาธารณสุข องค์การอนามัยโลก (world health organization) รายงานว่ามีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคหัวใจ 17.3 ล้านคน ในปี ค.ศ.2008 และคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ.2030 จะมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคหัวใจเป็นจำนวน 25 ล้านคน การรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจนั้นจะเริ่มต้นจากการรักษาด้วยยาหรือวิธีการอื่นๆ เช่น การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยการใช้บอลลูน ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน การใช้บอลลูนถ่างขยายลิ้นหัวใจไมตรัล ในผู้ป่วยลิ้นหัวใจไมตรัลตีบ เป็นต้น หากการรักษาไม่ได้ผล การรักษาขั้นสุดท้ายคือการผ่าตัดหัวใจชนิดเปิด ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม แม้ว่าในประเทศไทยจะมีการใช้เครื่องตรวจสอบระดับเลือดในปอดเทียม (level alarm) เพื่อ เป็นเครื่องมือป้องกันอันตรายเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย สำหรับการผ่าตัดหัวใจโดยใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม แต่เครื่องตรวจสอบระดับเลือดในปอดเทียม ที่โรงพยาบาลในประเทศไทยใช้มีการผลิตและนำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น นอกจากนี้เครื่องมือที่นำเข้าถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับปอดเทียมเพียงยี่ห้อ เดียวเท่านั้น และไม่สามารถใช้ได้กับปอดเทียมยี่ห้ออื่นๆ จึงทำให้ผู้ป่วยผ่าตัดโรคหัวใจที่ไม่ได้ใช้ปอดเทียมยี่ห้อเดียวกับเครื่อง มือที่นำเข้า ผู้ป่วยรายนั้นจะไม่ได้รับการติดตั้ง level alarm ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวร อันประกอบด้วย นายจิรนันท์ ปัญญาแก้ว นิสิตคณะสหเวชศาสตร์ นางสาววันทิพย์ภา ผกา แดง และนางสาวกชพรรณ ลิ้มโสภาธรรม นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยมี ผศ.ดร.สุชาติ แย้มเม่น อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์และ อาจารย์ปฏิวัติ โชติมล อาจารย์ประจำคณะสหเวชศาสตร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้สร้างเครื่องตรวจสอบระดับเลือดดำในปอดเทียมระหว่างการทำระบบไหลเวียน โลหิตและระบบแลกเปลี่ยนแก๊สภายนอกร่างกายเพื่อใช้ป้องกันภาวะหลอดเลือดสมอง อุดตันจากอากาศที่สามารถใช้กับผู้ป่วยผ่าตัดโรคหัวใจทุกราย เครื่อง ตรวจสอบระดับเลือดในปอดเทียม จัดเป็นเครื่องมือป้องกันอันตรายเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย สำหรับการผ่าตัดหัวใจโดยใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม ทำหน้าที่ในตรวจสอบระดับเลือดในปอดเทียม โดยจะใช้หน่วยตรวจวัดระดับเลือดที่ไม่สัมผัสของเหลว เป็นตัวตรวจสอบระดับเลือดในปอดเทียม เมื่อเลือดในปอดเทียมลดต่ำกว่าค่าขีดระดับที่ติดตั้งไว้บนปอดเทียมจะมีการ ส่งสัญญาณไฟฟ้ากลับไปที่หน่วยควบคุม ผ่านทางสายไฟเชื่อมต่อ โดยหน่วยควบคุม จะทำการประมวลผล ให้เกิดเสียงเตือนและไฟกระพริบ เป็นสัญญาณเตือนให้นักปฏิบัติการเครื่องหัวใจและปอดเทียม ถึงระดับเลือดในปอดเทียมลดต่ำลงจนเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อผู้ป่วย
วันที่ลงข่าว 11-12-2556
โดย : นิรันดร กาบบัว