กว่าจะเป็น "บริษัทเมืองพลการเกษตร จำกัด" ตั้งอยู่เลขที่ 109 หมู่ 1 ตำบลพลายชุมพล อ.เมืองพิษณุโลก จ.พิษณุโลก ภายใต้การบุกเบิกธุรกิจขายไก่ในตลาดสดและทั่วไปมามากว่า 20 ปีของ "นางสาวสุนทรีวัน พลโคตร" กรรมการผู้จัดการ และมี "นายธนพัต ละมูลวงศ์" รองกรรมการผู้จัดการนั้น เส้นทางการต่อสู้บนถนนสายธุรกิจค้าไก่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ทุกปัญหามีทางออก
"เราดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับโรงชำแหละไก่ และห้องเย็น มีโรงเชือดไก่ที่มีมาตรฐานและระบบคุณภาพ GMP, HACCP เราเป็นผู้ผลิตไก่ตัวและไก่สด รวมถึงชิ้นส่วนต่างๆ ของไก่ จัดจำหน่ายทั้งส่งและปลีก วัตถุดิบ(ไก่มีชีวิต)ที่นำมาผลิต มาจากฟาร์มเลี้ยงไก่ของบริษัท ตามมาตรฐานกรมปศุสัตว์ ซึ่งเป็นระบบปิดและมาจากฟาร์มมาตรฐานของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ ประกันราคามากกว่า 100 ฟาร์ม ทั่วภาคเหนือตอนล่าง มีสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่สัตวบาลดูแลการเลี้ยงตลอด" นายธนพัต กล่าว
ว่ากันว่า บริษัทเมืองพลการเกษตร มีตลาดลูกค้าขนาดใหญ่ที่สุดในพื้นที่ภาคเหนือ แต่เผชิญกับ "ต้นทุนการผลิตสูง" ดังนั้น "ธนพัต ละมูลวงศ์" จึงไม่รีรอสมัครเข้าร่วมโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานตามความต้องการสถานประกอบ กิจการ
ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 9 พิษณุโลก (สพภ.9 พล.) ที่มี "นายวิชัย ผิวสะอาด" ผู้อำนวยการ สพภ.9 พล. และเป็นประธานคณะทำงานคัดเลือกสถานประกอบกิจการเข้าร่วมโครงการฯ
"โครงการนี้ ทำให้บริษัทเห็นแสงสว่าง ที่จะลดต้นทุนการผลิตได้จริงๆ พนักงานร่วมมือดีมาก ทุกคนตระหนักว่าเมื่อลดต้นทุนการผลิตจะทำให้ผลประกอบการดีขึ้นสวัสดิการดี ขึ้น ความฝันที่จะขยายกิจการรองรับการเปิดประชาคมอาเซียนใกล้ความจริงมากขึ้น ผมมั่นใจกลางปี 2558 น่าจะส่งสินค้าได้ตามที่ลูกค้าสั่ง เมื่อปรับกระบวนการผลิต ลดการสูญเสียในวงจรการผลิตได้" ธนพัตกล่าวด้วยรอยยิ้ม
ขณะที่ น.ส.วิมล พูนเกิด ผู้จัดการโรงาน และ น.ส.จุฬาลักษณ์ มาพ่วง หัวหน้าฝ่ายขายและการตลาด บริษัท เมืองพลการเกษตร จำกัด กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าโครงการฯทำให้พนักงานได้มีส่วนร่วม รับรู้ข้อเท็จจริง จากข้อมูลเชิงสถิติ ที่มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยนเรศวร(มน.) คอยชี้แนะ ทำให้เห็นภาพความสูญเสียจากค่าโอที เครื่องจักรมีปัญหา
"เมื่อเข้าร่วมโครงการฯทำให้ลดขั้นตอนการทำงาน ไม่เป็นแบบคอขวด เครื่องจักรมีปัญหาก็ปรับกระบวนการลวกไก่
เปลี่ยนตำแหน่งหัววัดอูณภูมิให้ต่ำลงกว่าเดิม เพื่อไม่ให้ขนไก่ติดอยู่บริเวณเซนเซอร์ควบคู่กับการปรับระบบชุดลำเลียงไก่ เข้าเครื่องลวกไม่ให้ปลดไก่ลงสายพานในแต่ละรอบการลวกมากเกินไปจนค้างบริเวณ ปลายขอบสายพาน และปรับปรุงกระบวนการลำเลียงไก่จากเครื่องแช่เย็น เพื่อเข้ากระบวนการชำแหละด้วยถาดลำเลียงที่เหมาะสมไม่ให้ไก่ไหลตามถาดได้ ง่าย ลดจำนวนพนักงานและลดโอที ทำให้ลดต้นทุนการผลิตได้จริง" น.ส.วิมล กล่าว
การลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ของบริษัท เมืองพลการเกษตร จำกัด นั้น ด้วยการทำงานแบบเข้มข้นของทีมที่ปรึกษาที่มี "ดร.ภานุ บูรณจารุกร" ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มน. เป็นหัวหน้าทีมที่ปรึกษาสถานประกอบกิจการ ให้ สพภ.9 พล.
ดร.ภานุ กล่าวว่า การให้คำปรึกษาสถานประกอบกิจการเริ่มด้วยการพบปะพูดคุยกับทีมผู้บริหารสถาน ประกอบกิจการที่รับผิดชอบในพื้นที่ สพภ.9 พล. ทั้ง 10 สถานประกอบกิจการ เพื่อขอข้อมูลและลงพื้นที่หน้างานหลายครั้งเพื่อนำไปสู่การเก็บรวบรวมข้อมูล นำมาประชุมทบทวน วิเคราะห์เจาะลึกปัญหาเพื่อให้สอดคล้องตามแนวทางการดำเนินโครงการฯ ที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กำหนดไว้ 4 ข้อดังนี้
1.การลดการสูญเสียในวงจรการผลิตด้วยการควบคุมคุณภาพโดยใช้หลักการทางสถิติ (Statistical Guality Control, SQC)
2.การวางแผนความต้องการสินค้าของลูกค้าหรือการวางแผนการผลิตหรือการจัดตารางการผลิต(Demand Planning/Production Planning/ Production Scheduling)
3.การเพิ่มผลิตภาพแรงงานโดยใช้การวิเคราะห์และปรับปรุงกระบวนการผลิต (Production Procrss Improvement)
4.การควบคุมสินค้าคงคลัง หรือการจัดการคลังสินค้า (Inventory/Warehouse Management)
"ส่งทีมที่ปรึกษาวิเคราะห์ปัญหาและหาทางแก้ปัญหาตามแนวทางการดำเนินโครงการฯ ของ กพร. ดำเนินการควบคู่ไปการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการแบบเข้มข้น จากนั้นติดตามประเมิลผลเป็นระยะๆ" ดร.ภานุ กล่าว
จากการติดตามผลการประมินโครงการฯ "นายวิชัย ผิวสะอาด" ผอ.สพภ.9พล. กล่าวว่าสถานประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการฯ พอใจมาก สามารถลดต้นทุนการผลิตได้จริง พนักงานมีทักษะเพิ่มแต่ผู้ประกอบกิจการส่วนหนึ่งบอกว่าระยะเวลาในการดำเนิน โครงการสั้นไปอยากจะให้ขยายเวลามากขึ้น
"โครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานตามความต้องการสถานประกอบกิจการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบกิจการเพื่อลดต้นทนการผลิตและเพิ่มขีด ความสามารถในการแข่งขันรวมทั้งสร้างผลกำไรให้แก่ธุรกิจอันจะนำมาซึ่งรายได้ ที่สูงสุดและคุณภาพชีวิตที่ดีของพนักงานด้วย ซึ่งตามนโยบายของ นายนคร ศิลปอาชา อธิบดี กพร. ต้องการเพิ่มผลิตภาพแรงงานของสถานประกอบกิจการ ทั้งนี้ กพร.ตั้งเป้าลดการสูญเสีย ใน 200 สถานประกอบกิจการ เอาไว้ที่ 500-600 ล้านบาท ในปี 2557จากเมื่อปี 2556 มี 18 สถานประกอบกิจการ ลดการสูญเสียได้ 192 ล้านบาท" นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการ กพร. กระทรวงแรงงาน กล่าว
จาก เนชั่นสุดสัปดาห์
วันที่ลงข่าว 22-07-2557
โดย : นิรันดร กาบบัว